Hotel California น่าจะเป็นหนึ่งในเพลงอภิมหาอมตะนิรันกาลของมือกีตาร์

เอกลักษณ์ของเพลงนี้ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่ทางเดินคอร์ด ที่มีความเป็นเพลงนี้สูงมากๆ หมายความว่าทางเดินคอร์ดชุดนี้เอาไปใช้สร้างเพลงอื่นไม่ว่าจะคีย์ไหนๆก็ลำบากครับ เพราะมันจะทำให้นึกถึงเพลงนี้ตลอด

เพลงนี้ภาพรวมอยู่ใน Key Bm ในส่วนของ Solo เล่นอยู่บนทางเดินคอร์ดเดียวกับท่อน Intro/A คือ : Bm – F# – A – E – G – D – Em – F#

Diatonic Chord(คอร์ดในคีย์) ของ Bm นั้นมองให้ง่ายมันคือ Relative กับ D Major มีคอร์ดดังนี้ : D – Em – F#m – G – A – Bm – C#m7b5

พอเทียบกับทางเดินคอร์ดในเพลง Hotel California ท่อน A นั้นจะเห็นว่ามีคอร์ดนอกคีย์อยู่ (Non Diatonic Chord) คือ F# และ E … มันมาจากไหน? ผมมองแบบนี้ครับ

เราลองจับท่อน A ที่มีทั้งหมด 8 ห้องแยกเป็นชุด ชุดละ 2 ห้องดู

Bm – F# / A – E- / G – D / Em – F# …. และมองความสัมพันธ์ของคอร์ดแต่ละชุดดู

เราจะเห็นว่า มันคือคอร์ด I-V ซ้อนกันอยู่ 3 ชุด .. ส่วนชุดสุดท้ายนั้นเป็น iv-V ซึ่งเป็น Authentic Cadence จบท่อนส่งกลับไป Tonic คือ Bm เพื่อเริ่มชุดใหม่ …. ลองมาเจาะดูทีละชุดกัน

Bm – F# : i – V ของ Bm ซึ่งจริงๆใน Diatonic คอร์ด v นั้นต้องเป็น F#m เราเลยไปยืมคอร์ด (Borrowed Chord) F# ซึ่งเป็น V Major มาจาก B Major ที่เป็น Parallel Key กัน

A – E : I – V ของ A ครับ จริงๆในคีย์จะต้องเป็นคอร์ด Em เราเลยไปยืมคอร์ด E ซึ่งเป็น คอร์ด V Major ของ A Major มาครับ (ตรงนีเรามอง A เป็น Tonic ครับ จะมองว่าสองห้องนี้อยู่ในคีย์ A เลยก็ได้)

G – D : I – V ของ G ครับ แต่ทั้งสองคอร์ดนั้นเป็นคอร์ดในคีย์ของ Bm/D อยู่แล้ว

Em – F# : เป็น iv-V ของ Bm เป็น Authentic Cadence โดยยืม F# มาจาก B Major

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถาม ….. คอร์ด v ของตัวเองก็มีจะไปยืมมาทำไม?
… คำตอบคือ คอร์ด v ในคีย์ minor นั้นเป็นคอร์ด minor ครับ และมันไม่มี Leading Tone ซึ่งเป็นโน๊ตที่ก่อให้เกิด Tension ขึ้นในเพลง …. ในยุคคลาสสิกนั้นเพลงส่วนมากจะถูกขับเคลื่อนด้วย Tension-Release คือทำให้รู้สึกตึงเครียด ตื่นเต้น และผ่อนคลายลง ทำให้ดนตรีมันรู้สึกเคลื่อนไหว และทำให้คนฟังนั้นถูกดึงไปตามอารมณ์ของดนตรีได้ง่าย Tension ที่ใช้กันมากสุดๆเลยคือคอร์ด V ซึ่งในคีย์ที่เป็น Major มันทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ในคีย์ minor มันขาดตรงนี้ไป เลยมักจะนิยมไปยืมคอร์ด V จาก Major มาใช้แทน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่านี่คือต้นกำเนิดของ Harmonic Minor Scale ทำให้ในยุคคลาสิกนั้น ถ้าเราพูดถึง Minor Scale ทุกคนจะนึกถึง Harmonic Minor กัน (ส่วนเรามือกีตาร์ทั้งหลายลองนึกถึง Yngwie ดูครับ)

กลับมาที่ Hotel California เวลาฟังเราอาจจะรู้สึกผ่อนคลายสลับ(คอร์ด I) กับตื่นเต้น(คอร์ด V) สลับกันไป ซึ่งถ้าไม่ไปยืมคอร์ด V ที่เป็น Major มาใช้ ความรู้สึกตรงนี้จะหายไปเลยครับ

ในส่วนของ Solo นั้นเป็น Chord Tone (จบประโยค โน๊ตยาวๆด้วยโน๊ตในคอร์ด) กับ Pentatonic Scale แทบจะทั้งหมด วลีของ Solo นั้นเป็นวลีที่ยาวสองห้อง ล้อกับทางเดินคอร์ดตามที่วิเคราะห์ไว้ด้านบน ใครที่มีปัญหาว่า Solo ยาวจำไม่ได้ ลองแบ่งเป็นจำทีละประโยค ทีละสองห้องดูครับคิดว่าน่าจะช่วยได้

Don Felder จะขึ้น Solo มาก่อน 8 ห้อง และสลับเป็น Joe Walsh เล่น 8 ห้อง จากนั้นกลับมาสลับกันเล่น คนละ 2 ห้อง จากนั้นมีการเล่นประสานกัน และเข้าสู่ท่อน Arpegio ในตำนาน

ในเรื่องของซาว์ดนั้น Don Felder น่าจะใช้ Gibson ที่เป็น PU Humbucking ส่วนตัวฟังคิดว่ามีการผสม Chorus ไว้นิดหน่อย ส่วน Joe Walsh นั้นน่าจะใช้ Fender Strat ที่เป็น Single Coil และมีผสม Phaser ไว้เล็กน้อยเช่นเดียวกัน แอมป์ที่ใช้ทั้งคู่น่าจะเป็นตระกูล Fender ที่เปิดดังจนมันแตก ….. ในคลิปนั้นผมใช้ Overdrive บูสเอาเพราะไม่สามารถเปิดดังขนาดนั้นได้ครับ ในส่วนของไลน์ประสานนั้น Gibson ที่ฟังหนากว่าจะถูกใช้ในการเล่นไลน์ทีโน้ตสูงกว่า และ Fender ที่เสียงแหลมกว่าถูกใช้ในการเล่นไลน์ที่โน๊ตต่ำกว่า ทำให้ซาว์ดรวมนั้นออกมาบาลานซ์ครับผม

หวังว่าจะมีประโยชน์กันนะครับ เพลงนี้ถ้าแกะฝึกเพื่อศึกษาและเรียนรู้มากๆครับ