IR คืออะไร? ทำไมใครๆก็พูดถึง IR? ทำไมมัลติรุ่นไหนๆก็ใช้ IR? ผมก็เคยสงสัยครับ เลยต้องไปหาข้อมูลมาตอบคำถามของตัวเอง ไหนๆก็ได้ข้อมูลมาแล้วเลยเอามาเขียนให้อ่านกัน
อ่านตอนก่อนๆได้ที่
Multi Effect #1 มัลติตัวไหนดีกว่ากัน
Multi Effects #2 : มัลติเอฟเฟกต์ทำงานอย่างไร?
Multi Effect #3 : Converter ในมัลติเอฟเฟกต์ทำหน้าที่อะไร?
IR ย่อมาจากคำว่า Impulse Response แปลจากชื่อตรงๆก็แปลว่า กระตุ้น(Impulse) ให้เกิดการตอบสนอง(Response) ซึ่งมีการใช้งานในวงการอื่นๆเช่น โทรคมนาคม หรือ เศรษฐศาสตร์ด้วย
ในส่วนของดนตรีและเสียงนั้นเริ่มใช้กันมานานแล้ว โดยที่นิยมกันมากคือใช้กับการจำลองเสียง Reverb ของสถานที่ๆต้องการ อย่างเช่น Carnegie Hall ในนิวยอร์กมีอะคูสติกที่ดีมากๆ ฟังเพลงแล้วเพราะสุดๆ อยากจะได้ Room จาก Carnegie Hall มาไว้ฟังเพลงที่บ้าน เราก็สามารถทำ IR ของ Carnegie Hall ได้ โดยการเลือกตำแหน่งที่นั่งใน Carnegie Hall ที่คิดว่าชอบเสียงที่สุด แล้วก็ตั้งไมค์อัดเสียงเอาไว้ และปล่อยการกระตุ้น(Impulse) เช่นเพลง หรือ Tone Generator ที่ปล่อยความถี่ตั้งแต่ต่ำไปสูง( ตัวอย่าง Tone Generator https://goo.gl/UpxGXc) ให้ไปสะท้อนกับอะคูสติกของ Carnegie Hall แล้วเอาไมค์ที่ตั้งไว้บันทึกเสียงที่ผ่านการตอบสนอง(Response) ของสถานที่นั้นๆมาแล้ว พอเรากลับมาบ้านก็เอาเพลงมาเปิดผ่าน IR ที่ได้นั้นใช้เป็น Filter เพื่อกรองเอาความถี่ที่ Carnegie Hall ไม่มีออกไป ก็เหมือนกับเราได้นั่งฟังเพลงอยู่ที่ Carnegie Hall
ในส่วนของวงการกีตาร์นั้น IR น่าจะใช้กันมาสิบปีแล้ว เพราะแต่ก่อนเรามี Amp Simulation ที่เป็น Plug In มากมายในคอมพิวเตอร์ แต่พวกเสียง Speaker Simulation นั้นยังไม่ค่อยถูกใจมือกีตาร์กันเท่าไหร่ เริ่มมีคนเริ่มทำ IR ด้วยการหา Cabinet ดีๆ ไปหาห้องอัดที่มี Room ดีๆ ใช้ไมค์ดีๆ มาทำ IR ของ Cabinet เอามาใช้ร่วมกับ Amp Simulation
ด้วยความที่ IR นั้นต้องใช้Plug In ในการทำงาน และเมื่อก่อนยังไม่มี Multi Effect ในรูปแบบของHardware ที่สามารถนำ IR ออกไปใช้เล่นสด หรือใช้เดี่ยวๆแบบ Stand Alone ได้ IR เลยถูกจำกัดวงให้ใช้กันอยู่ใน DAW หรือ โปรแกรมทำเพลงเท่านั้น แต่ไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีผู้ผลิตทำ Hardware ที่สามารถใส่ IR ลงไปได้ มือกีตาร์เลยได้ใช้งาน IR กันมากขึ้น
IR Cabinet นั้นสร้างขึ้นมาอย่างไร? เริ่มจากเราหา Cabinet ที่เราต้องการ เอาไปวางไว้ในห้องในตำแหน่งที่เราต้องการ ทำการจ่อไมค์ที่ต้องการ ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นต่อ ภาค Power Amp เข้ากับ Cabinet นั้น และปล่อย Tone Generator เข้าไปยังภาค Power Amp เปิดให้ดังเท่าที่ต้องการ แล้วบันทึกเสียงที่ได้จาก Cabinet และ Room ผ่าน ไมค์ที่จ่อไว้ แน่นอนว่าได้ Wav File มา จากนั้นเราก็ทำการบีบอัด Wav File นั้นให้สั้นลงมากๆ และเรามาใช้เป็น Filter ทำให้เสียงทุกอย่างที่ผ่าน Filter นี้ถูกจำลองให้ผ่าน Power Amp, Cabinet, Room ของห้อง และไมค์ที่ใช้อัด ยิ่งเสียง Tone Generator ยาวเท่าไหร่ IR ก็ยิ่งมีคุณภาพเสียงสูงเท่านั้น แต่ขนาดไฟล์ก็จะใหญ่ขึ้นไปด้วย และแน่นอนว่ากินทรัพยากรเวลาเอาไปใช้ด้วยเช่นกัน เท่าที่หาข้อมูลมา มีบางคนก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องปล่อย Tone Generator แค่ปล่อยเสียง สั้นๆผ่านทีเดียวก็พอแล้ว แต่ผมคิดว่าการบีบอัดไฟล์ที่มีการเล่นเสียงความถี่จากต่ำไปสูงน่าจะมีคุณภาพมากกว่าแน่ๆ
ข้อดีของ IR คืออะไร? เหมือนคุณได้เล่นกีตาร์ผ่าน Cab ดีๆราคาแพงมากๆ อัดเสียงในห้องอัดระดับโลกด้วยไมค์ระดับตำนาน และจะสลับปรับเปลี่ยนกับ IR ตัวอื่นๆได้อย่างง่ายดาย แค่โหลด IR ตัวใหม่เข้าไป อยากได้ IR ตัวไหนก็แค่ซื้อผ่านผู้ผลิต IR แบรนด์ดังๆแล้วก็ดาวโหลดลงมาใช้งานได้เลย
แล้วข้อจำกัดของ IR ละ? IR นั้นเหมือนเป็น Filter ที่กรองความถี่ที่ไม่พบใน Power Amp, Cab, Mic, Room ที่ใช้ในการสร้าง IR นั้นๆออกไป .. ดังนั้นไม่ว่าเราจะเล่นเสียงอะไรผ่าน มันก็จะทำหน้านี้เหมือนเดิมตลอด แต่ลำโพงกีตาร์จริงๆแล้วนั้นตอบสนองต่อย่านความถี่ที่ถูกปล่อยเข้ามาแตกต่างออกไป ปรกติแล้วลำโพงกีตาร์จะตอบสนองต่อย่านความถี่ต่ำและสูงได้ดีกว่าย่านกลาง ทำให้เสียงกีตาร์โดยรวมๆนั้นจะมีคาแรกเตอร์ที่เป็น Scoop Mid คิดง่ายๆก็คือเมื่อเล่นเสียงย่านกลางลำโพงจะสั่นสะเทือนได้เบากว่าย่านต่ำและสูง, นอกจากนั้นเมื่อเราเล่นกับDynamic ดีดดัง ดีดเบา เราโพงก็จะทำงานตอบสนองแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ในขณะที่ IR นั้นตอบสนองเหมือนเดิมตลอด อีกทั้ง IR นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยการเล่นเสียงผ่าน Power Amp ทำให้ IR แต่ละไฟล์นั้นก็จะติดคาแรกเตอร์ของ Power Amp ที่ใช้ในการสร้างขึ้นมาด้วย ดังนั้นไม่ว่าเราจะเล่นกับ Amp Simlation ตัวไหนพอผ่าน IR มันจะติดคาแรกเตอร์ของ Power Amp มาด้วยเช่นกัน และสุดท้ายการปรับเปลี่ยนต่างๆเช่นไม่ชอบเสียงไมค์ ไม่ชอบ Room ทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย ต้องหา IR ใหม่ที่คิดว่าแก้ปัญหาพวกนั้นได้มาโหลดใช้งานแทนเท่านั้น
ถึงจะมีข้อจำกัดแต่ในปัจจุบัน IR ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานของวงการมัลติเอฟเฟกต์เลยทีเดียว แต่ก็เริ่มมีบางบริษัทที่พัฒนาระบบ Speaker Simualtion แบบใหม่ขึ้นมาแล้ว จากนี้ก็คงต้องดูว่าตลาด และพวกเราเหล่ามือกีตาร์จะตอบสนองอย่างไรและชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ตอนหน้าผมจะมาเขียนเรื่องประเภท Output และ Global EQ ให้อ่านกันครับ