DSP คืออะไร? สำคัญอย่างไรในมัลติเอฟเฟกต์?

DSP ย่อมาจากคำว่า Digital Signal Processor หรืออุปกรณ์ประมวลผลสัญญาณดิจิตอล ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือนำข้อมูลสัญญาณเสียงที่ถูกแปลงจากอนาล๊อกมาเป็นดิจิตอลด้วย AD Converter (อ่านเรื่อง Converter ได้ที่ Multi Effect #3 : Converter ในมัลติเอฟเฟกต์ทำหน้าที่อะไร?) แล้วมาประมวลผล ไม่ว่าจะเป็นการใส่เอฟเฟกต์ การจำลองเสียงแอมป์และลำโพงต่างๆ การวาง Signal Chain การเซฟโปรแกรมทั้งหลาย รวมถีงการแสดงผลต่างๆบนหน้าจอของมัลติ เปรียบ DSP ได้เหมือนกับสมองและสำคัญเหมือนหัวใจของมัลติเอฟเฟกต์เลยทีเดียว

ถ้าเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ DSP ก็เปรียบเสมือนกับ CPU ของคอมพิวเตอร์ หรือ ชิพของสมาร์ทโฟน ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีดิจิตอลพวกนี้พัฒนามาอย่างก้าวกระโดดตามยุคสมัย

เมื่อเราดูข้อมูลของ DSP หรือ CPU เรามักจะพบความเร็วในการประมวลผล หรือ Clock Speed ระบุอยู่ ซึ่งจะบอกเราใน 1 วินาทีสามารถประมวลผลได้กี่ครั้ง เช่น iPhone X ใช้ชิพ A11 ซึ่งมี Clock Speed สูงสุดที่ 2.39GHz ก็จะประมวลผลได้ 2,390,000,000 (สองพันสามร้อยเก้าสิบล้าน) ครั้งใน 1 วินาที

ในการประมวลผลข้อมูลแต่ละอย่างก็จะใช้ Clock Speed ไม่เท่ากัน เช่นการเปิดแอพกล้องอาจจะใช้การประมวลผล 20,000 ครั้ง การเล่นเกม ROV อาจจะใช้ 1,000,000 ครั้ง ยิ่งคำนวณซับซ้อนเท่าไหร่ก็ยิ่งกิน Clock Speed มากเท่านั้นและก็ยิ่งเกิดความร้อนมากขึ้นเท่านั้น เราอาจจะได้ยินมาว่าพวกคลั่งคอมชอบทำ Overclock กัน ก็คือการทำให้ CPU ทำงานได้มากกว่าที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดเอาไว้ แน่นอนว่าย่อมมีความร้อนมากขึ้นเลยต้องมีระบบหล่อเย็นด้วยน้ำ หรือไนโตรเจนเหลวมาช่วยระบายความร้อน

เมื่อ CPU พัฒนามาถึงจุดนึงก็ไม่สามารถจะทำให้มี Clock Speed มากขึ้นโดยไม่ร้อนได้เลย ผู้ผลิตก็เลยใช้วิธีเพิ่มจำนวน CPU ลงบนชิพแทนเลยเกิดมาเป็น Dual Core, Quad Core, i5, i7 เป็นต้น ข้อดีก็คือประมวลผลได้เร็วขึ้นโดยไม่ร้อน แต่โปรแกรมทั้งหลายก็ต้องถูกปรับแก้หรือเขียนขึ้นมาใหม่ให้ทำงานบน CPU ที่มีหลาย Core ได้ /เบื้องต้นอย่าง A11 ใน iPhone X นั้นก็มี 2.39GHz อยู่ 2 Cores ด้วยกัน

กลับมาที่ DSP ในมัลติเอฟเฟกต์กันบ้าง แน่นอนว่ามัลติตัวที่นิยมกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ตัวโปรแกรมหรืออัลกอริธึ่มที่ใช้กันนั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก รวมถึงสามารถเปิดใช้งาน Block เอฟเฟกต์และแอมป์ต่างๆพร้อมๆกันได้มากขึ้น รวมถึงโหลดพวก IR เข้าไปได้ยิ่งกินทรัพยากรการประมวลผลมากขึ้นไปด้วย เลยเร่ิมมีหลายๆบริษัทใส่ DSP 2 ตัวลงไปในมัลติรุ่นสูงๆให้เห็นกันมาแล้ว

หลายๆบริษัทนั้นใช้ DSP ที่ผลิตโดยผู้ผลิตแบรนด์ดังๆ เช่น TigerSHARC ซึ่งมีฝรั่งหลายๆคนใจกล้าแงะออกมาดู ในขณะที่บางบริษัทอาจจะใช้ Custom DSP ที่ผลิตเอง ซึ่งข้อได้เปรียบของการผลิต DSP เองนั้นสามารถที่จะใช้ DSP ในการประมวลผลได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเผื่อไว้ประมวลผลเรื่องนี้เช่นเรื่องของ ภาพหรือโปรแกรมนอกจากเรื่องของเสียง อย่าง TigerSHARC นั้นสามารถเอาไปใช้งานในยานยนต์ หรือเครื่องจักรต่างๆได้ด้วย

ปัญหาต่างๆที่เรามักเจอในมัลติเอฟเฟกต์เช่น เปลี่ยน Preset แล้วเสียงกระตุก (ปัจจุบัน ปี 2019 มีผู้ผลิตมัลติที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้แล้ว) ใช้เอฟเฟกต์พร้อมกันได้จำกัด , ไม่สามารถเปิดแอมป์และ IR พร้อมกันหลายๆตัวได้ ก็ล้วนมาจาก DSP นั้นประมวลผลไม่ไหว แต่ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไป DSP ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามไปด้วยและปัญหาพวกนี้ก็จะถูกแก้ไขได้อย่างแน่นอนครับ

ว่าจะเขียนสั้นๆ ยาวทุกตอนเลย55!! ใครทนอ่านมาถึงตรงนี้ได้น่าจะได้อะไรไปไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วตอนหน้าจะมาเขียนถึงเรื่องของ IR ให้อ่านกันครับ