จากตอนก่อนหน้าที่ผมได้พูดถึงเรื่องความแตกต่างของมัลติแต่ละยี่ห้อ/รุ่น และการทำงานของมัลติเอฟเฟกต์แล้ว (อ่านได้ที่ Multi Effect #1 : มัลติตัวไหนดีกว่ากัน?​ , Multi Effects #2 : มัลติเอฟเฟกต์ทำงานอย่างไร?) ในตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของ Converter ครับ

เสียงกีตาร์ไฟฟ้าของเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาจากสนามแม่เหล็กของปิ๊กอัพ ที่รับเอาแรงสั่นสะเทือนของสายกีตาร์ทั้งจากตัวสายเองและแรงที่ส่งผ่านมายังตัวกีตาร์แล้ว และแปลงให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ส่งผ่านสายแจ็คไปยังเอฟเฟกต์ มัลติเอฟเฟกต์ หรือแอมป์ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นอนาล๊อก

มัลติเอฟเฟกต์นั้นทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ดั้งนั้นจะต้องมีการแปลงสัญญาณจากอนาล๊อคให้กลายเป็นดิจิตอลซะก่อน ถึงเป็นหน้าที่ของ Converter ที่เราเรียกว่า AD Converter (Analog to Digital) เมื่อประมวลผลเสร็จก็จะแปลงจากดิจิตอลกลับเป็นอนาล๊อกอีกทีเพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์ถัดไป ส่วนนี้เราจะเรียกว่า DA Converter (Digital to Analog)

ในระบบดิจิตอลนั้นข้อมูลที่เก็บจะมีเพียงแค่ตัวเลข 0 กับ 1 แล้วเสียงจะกลายเป็นเลข 0 กับ 1 ได้อย่างไร? วิธีการก็คือ Converter นั้นจะทำการแปลงข้อมูลโดยทำการเก็บข้อมูลเป็นจุดๆ แต่ละจุดก็จะมีชุดตัวเลขของตัวเองอยู่ และเมื่อประมวลผลเสร็จก็จะนำข้อมูลชุดตัวเลขทั้งหมดนั้นมา แปลงกลับให้กลายเป็นเสียงอีกครั้งนึง

ในการเก็บข้อมูลดิจิตอลนั้นจะเริ่มด้วยแบ่งว่าใน หนึ่งวินาทีจะเก็บข้อมูลกี่ครั้ง เรียกว่า Sampling Rate และจุดที่เก็บข้อมูลนั้นจะเก็บด้วยความละเอียดมากขนาดไหน เรียกว่า Bit Depth ( สามารถอ่านเพิ่มเติมพร้อมภาพประกอบได้ที่ https://goo.gl/9F8kM5 )

ยิ่ง Sampling Rate และ Bit Depth มากเท่าไหร่ จำนวนข้อมูลก็มากขึ้น และเสียงก็จะยิ่งสมจริงขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าความละเอียดในการเก็บข้อมูลนั้นก็พัฒนาไปเรื่อยๆตามการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิตอล และเทคโนโลยีเก่าก็จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ

ซีดีที่เราเคยฟังกันนั้นมีความละเอียดอยู่ที่ 16bits / 44kHz มาตรฐานอุตสากรรมดนตรีในปัจจุบันใช้กันอยู่ที่ 24bit / 44kHz หรือ 48kHz

ในส่วนของมัลติเอฟเฟกต์นั้นก่อนปี 2018 ใช้ Converter ที่มีความละเอียดกันอยู่ที่ 24bits / 44kHz, 48kHZ หรืออาจจะขึ้นไปถึง 96kHz ซึ่งหลายๆยี่ห้อหลายๆรุ่นสามารถประมวลผลได้ที่ 32bits แต่นั้นคือเฉพาะส่วนของ DSP แต่ในภาค AD และ DA Converter นั้นเป็น 24bits ความละเอียดการข้อมูลที่เก็บไป และแปลงกลับก็ยังเป็น 24bits อยู่ดี

ลองจิตนาการถึงสุดยอดพ่อครัวระดับมิชลิน(DSP 32bits) ต้องปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบเกรดร้านมาตรฐาน (AD Converter 24bits) และเอาไปจัดจานและเสิร์ฟในระดับร้านอาหารมาตรฐาน (DA Converter 24bits) น่าจะพอเห็นภาพง่ายขึ้นครับ

หลังปี 2018 เริ่มมีมัลติที่เป็น 32bits through out แล้ว ซึ่งเป็น 32bits ทั้งภาค AD-DA Converter และ DSP และน่าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการมัลติเอฟเฟกต์ต่อจากนี้ไป

ในมัลติแต่ละรุ่นนั้นอาจจะมีจำนวน Converter ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าต้องแปลงอนาล๊อคเป็นดิจิตอลไปกลับที่ครั้ง เช่น ถ้ามัลติมีแค่ in-out ก็ใช้แค่ชุดเดียว ถ้ามัลติมี in-out และ effect loop อีก 4 ชุดที่สลับตำแหน่งได้อิสระก็ต้องใช้ 5 ชุด หรือเอฟเฟกต์ที่มี in-out และ effect loop 3 ชุดแต่ต้องวางทั้ง 3 ลูปติดกันก็ใช้เพียงแค่ 2 ชุด ยิ่งต้องใช้เยอะเท่าไหร่ทุนของผู้ผลิตก็จะสูงตามไปด้วย และแน่นอนว่าราคามัลติตัวนั้นก็จะสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ตอนนี้หน้าจะมาเขียนเรื่อง DSP และ IR ให้อ่านกันครับ